วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

ปาล์ม

ปาล์ม (ชื่อสามัญ palm ; ชื่อวิทยาศาสตร์ Palmae หรือ Arecacae ) นับเป็นพืชวงศ์ใหญ่ที่สุด (รองจากหญ้า) ทั้งในแง่จำนวนของชนิด และปริมาณที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ จำแนกได้กว่า 210 สกุล และราว 3,800 ชนิด เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ไม่แยกกิ่งก้านสาขา

พืชจำพวกปาล์มนี้มีร่องรอยในซากดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ถึงประมาณ 80 ล้านปีมาแล้ว ปัจจุบันนี้เราพบปาล์มได้ในหลากหลายพื้นทั่วโลก อันเนื่องจากปาล์มสามารถเติบโตในสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นพืชพื้นเมืองในเขตร้อน และกึ่งเขตร้อนก็ตาม แต่ปาล์มสามารถเติบโตได้ตั้งแต่ละติจูด 30 องศาเหนือ ลงมาจนถึงละติจูด 30 องศาใต้

ปาล์มที่พบในเขตเหนือสุด คือปาล์มพัดยุโรป (Chamaerops humilis) ซึ่งเติบโตในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และแอฟริกาตอนเหนือ ส่วนปาล์มที่พบตอนใต้สุด คือปาล์มนิเกา (Rhopalostylis sapida) ที่พบในนิวซีแลนด์ และหมู่เกาะแชแธม

ปาล์มก็ยังเติบโตบนพื้นที่สูงถึง 3,000 เมตร (บนเทือกเขาแอนดีส) ส่วนที่แห้งแล้งอย่างทะเลทราย (อินทผลัม) และที่ชื้นแฉะ ก็ยังเป็นที่อาศัยส่วนใหญ่ของปาล์มหลากหลายชนิด (เช่น จาก ชิด สาคู)

อนุกรมวิธานของปาล์ม
บางตำราจำแนกปาล์มออกเป็น 6 วงศ์ย่อย (subfamily) ได้แก่

Arecoideae (เต่าร้าง มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ)
Calamoideae (หวายชนิดต่างๆ)
Ceroxyloideae (ปาล์มขวด, ปาล์มแชมเปญ ฯลฯ)
Coryphoideae (อินทผลัม, ลาน, ตาล ฯลฯ)
Nypoideae (จาก ชนิดเดียว)
Phytelephantoideae (ปาล์มงาช้าง แถบอเมริกากลาง)
สัณฐานวิทยาของปาล์ม

ปาล์มส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะที่เด่นชัด กล่าวคือลำต้นเป็นข้อ มีใบบนยอดเพียงที่เดียว ไม่แตกกิ่งก้าน มีก้านใบที่ยาวและใหญ่ ลักษณะใบแตกต่างกัน แต่ก็ไปรวมกลุ่มกันที่ปลายก้านที่เดียว อย่างไรก็ตาม ยังมีปาล์มอีกหลายชนิด ที่ไม่ได้มีลำต้นสูงพ้นดิน แต่ก็มีลักษณะใบแบบปาล์ม ทำให้สังเกตได้ไม่ยากนัก ทยาย
ลำต้น
ปาล์มส่วนมากมีลักษณะลำต้นเดี่ยว งอกขึ้นจากพื้นต้นเดียว ไม่แตกหน่อ หรือแตกกิ่ง เช่น มะพร้าว หมาก ปาล์มน้ำมัน ตาล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปาล์มอีกหลายชนิด ที่มีลำต้นเดียวแต่มีการแตกกอขึ้นในที่ใกล้กัน จึงปรากฏเป็นกอใหญ่ เช่น หมากแดง หมากเหลือง ปาล์มไผ่ ส่วนปาล์มที่มีขนาดลำต้นเล็ก นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
นอกจากลักษณะเด่นทั้งสองแล้ว ยังมีลำต้นที่แตกกิ่ง เช่น ปาล์มกิ่ง (Hyphaene thebaica) นับว่ามีลักษณะที่โดดเด่นจากปาล์มชนิดอื่นๆ มากทีเดียว ส่วนปาล์มที่มีขนาดเล็กจะมีลำต้นอยู่ใต้ดิน เช่น ระกำ หรือลำต้นทอดไปตามพื้นดิน เช่น จาก และลำต้นเป็นเถาเลื้อย ได้แก่ หวายทุกชนิด
ปาล์มส่วนใหญ่จะมีต้นสูง สามารถแบ่งเป็นสามส่วน คือ เรือนยอด (crown) ตั้งแต่ก้านใบขึ้นไป, คอยอด (Crownshaft) อยู่ระหว่างลำต้น และพุ่มใบ, และส่วนลำต้น (trunk) ตั้งแต่โคนขึ้นมาจนถึงคอ
ข้อหรือวงแหวนรอบลำต้นนั้น นับเป็นจุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งของปาล์มทีเดียว ซึ่งเกิดจากการร่วงหลุดของก้านใบนั่นเอง บางชนิดเมื่อร่วงแล้วลำต้นเกลี้ยง บางชนิดแม้ใบจะเหี่ยว แต่ก้านใบก็ไม่หลุดเสียเลยทีเดียว

ปาล์มบางสกุลมีลำต้นที่อ้วนป่องตรงกลาง (ปาล์มขวด,ปาล์มแชมเปญ) มีการสะสมน้ำไว้ในลำต้นขณะที่ปาล์มขนาดเล็กบางชนิดมีรกพันที่ลำต้น (จั๋ง, เคราฤๅษี)

ใบ
ลักษณะใบของปาล์ม ถือเป็นจุดเด่น และว่าเป็นข้อสังเกตที่สำคัญ เพราะในของปาล์มนั้นเป็นใบประกอบ มีก้านใบที่ยาว และมีใบย่อยเรียงรายจำนวนมาก ใบอ่อนเป็นก้านยาวชูขึ้นไปบนยอด แล้วคลี่ขยายออกมาออกมา จำแนกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ใบรูปขนนก และใบรูปพัด หรือฝ่ามือ

ใบรูปขนนก (Pinnate) มีก้านใบเป็นแกนกลาง และมีใบย่อยเรียงสองข้าง ที่เห็นชัดก็ได้แก่ มะพร้าว หมาก ปาล์มขวด นอกจากนี้ยังมีใบของเต่าร้าง ที่เป็นรูปขนนกสองชั้น และใบปาล์มหางกระรอก เป็นใบพวง
ใบรูปพัดหรือรูปฝ่ามือ (fan leaf, palmate leaf) กล่าวกันว่า ชื่อของปาล์ม (palm) ก็มาจากลักษณะที่คล้ายกับฝ่ามือ (palm) นั่นเอง ใบรูปพัด มีลักษณะคล้ายพัดจีน มีใบย่อยแตกออกจากจุดปลายของก้านใบในรัศมีวงกลม แผ่ออกไป ติดกันบ้าง แยกกันบ้าง เช่น ใบตาล ลาน ปาล์มพัด เป็นต้น
มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากใบของพืชจำพวกปาล์มมาช้านาน ที่รู้จักกันดีก็คือใบจาก ใช้มุมหลังคา ห่อขนม (ขนมจาก) ขณะที่ในชนบท ยังนิยมใช้ใบจากมวนยาเส้นใช้สูบ ส่วนมะพร้าวนั้นใบค่อนข้างแคบ นำมาตัดเป็นแถวสั้นๆ คาดห่อใบตอง อย่างห่อหมก ขนมสอดไส้ เป็นต้น เมื่อเลาะใบออก เหลือก้านใบ สีเหลืองตัดเป็นท่อนสั้นๆ ใช้เป็นไม้กลัด หรือนำก้านยาวๆ มามัดรวมกันเป็นไม้กวาดก้านมะพร้าว

ใบของกะพ้อ มีลักษณะคลี่บานเหมือนพัด คลี่ออกแล้วห่อขนมได้ ส่วนใบลานนั้น เหนียวและหนาพอที่จะใช้จารอักษรโดยเฉพาะ คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาได้ และยังเก็บได้เป็นเวลานานนับร้อนๆ ปี นอกจากนี้ยังใช้ทำงานจักสานได้ด้วย

ผล
ผลของพืชจำพวกปาล์มโดยมากมีเปลือกแข็ง มีขนาดที่หลากหลาย ตั้งแต่เล็กมาก เช่น หวาย จนถึงขนาดปานกลาง เช่น หมาก อินทผลัม และขนาดใหญ่ อย่างมะพร้าว หรือมะพร้าวแฝด ผลปาล์มหลายชนิดรับประทานได้ ที่รู้จักกันดี ก็คือ ตาล จาก ชิด สละ ระกำ มะพร้าว หมาก (ใช้เคี้ยว) ปาล์มที่มีผลขนาดใหญ่ที่สุด คือมะพร้าวแฝด (coco-de-mer)

ลักษณะผลของปาล์มส่วนใหญ่มีความคล้ายกัน บางชนิดก็มีผลเล็กมาก ออกเป็นช่อ เป็นทะลายเช่นเดียวกับหมากและมะพร้าว ส่วนเปลือกของผลระกำและสละนั้นบางมาก เปลือกนอกของปาล์มหลายชนิดเป็นเส้นใยเกาะตัวหนาแน่น ผลปาล์มส่วนใหญ่เหมาะแก่การแพร่พันธุ์เป็นอย่างยิ่ง หลายชนิดมีเปลือกนอกที่เบา มีเส้นใยเกาะหนา ลอยน้ำได้ บางชนิดมีเปลือกบาง เป็นอาหารของสัตว์ป่า เมื่อคายหรือขับถ่ายเมล็ดออก ก็จะงอกงามได้ต่อไป

ดอก
จั่น หรือ ดอก ของพืชในวงศ์ปาล์มไม่ได้มีกลิ่นหอม ไม่มีกลีบดอกสวยงาม โดยมากเป็นดอกขนาดเล็ก และแข็ง ดอกของปาล์มนั้นประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอก 3 กลีบ เกสรตัวผู้ 3-6 อัน หรือมากกว่า เกสรตัวเมียมีรังไข่ 1-3 อัน ดอกของปาล์ม ออกเป็นช่อเป็นพวง ช่อดอกที่ยังอ่อนของปาล์มหลายชนิด เมื่อปาดส่วนปลายออก จะได้น้ำหวาน ทำน้ำตาลสด น้ำตาลปึก และน้ำตาลเมา ได้

ปาล์มส่วนใหญ่จะออกดอกเป็นระยะเรื่อยไปตลอดอายุขัย แต่มีปาล์มบางชนิดออกดอกครั้งเดียวเท่านั้น ทว่ากว่าจะออกดอกนั้นใช้เวลานานมาก เมื่อออกดอกและให้ผลแล้วต้นก็จะตายไป เนื่องจากใช้อาหารที่สะสมในลำต้นจนหมด ปาล์มที่มีลักษณะเช่นนี้ ได้แก่ สาคู

ปัจจุบันมีความนิยมปลูกปาล์มเป็นไม้ประดับมากขึ้น ผู้ที่สนใจศึกษาปาล์มชนิดต่างๆ สามารถชมได้ที่สวนแสนปาล์ม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

มะพร้าว


มะพร้าว เป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลปาล์ม เป็นพืชซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ในหลายทาง เช่น น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนใช้รับประทาน เนื้อในผลแก่นำไปขูดและคั้นทำกะทิ กะลานำไปประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ ฯลฯ นอกจากนี้มะพร้าวจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ได้กำหนดให้ปลูกมะพร้าวไว้ทางทิศตะวันออกของบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล
ลักษณะทั่วไป
มะพร้าว เป็นพืชยืนต้น ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก ผลประกอบด้วยเอพิคาร์ป (epicarp) คือเปลือกนอก ถัดไปข้างในจะเป็นมีโซคาร์ป (mesocarp) หรือใยมะพร้าว ถัดไปข้างในเป็นส่วนเอนโดคาร์ป (endocarp) หรือกะลามะพร้าว ซึ่งจะมีรูสีคล้ำอยู่ 3 รู สำหรับงอก ถัดจากส่วนเอนโดคาร์ปเข้าไปจะเป็นส่วนเอนโดสเปิร์ม หรือที่เรียกว่าเนื้อมะพร้าว ภายในมะพร้าวจะมีน้ำมะพร้าว ซึ่งเมื่อมะพร้าวแก่ เอนโดสเปิร์มก็จะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปหมด ขณะที่มะพร้าวยังอ่อน ชั้นเอนโดสเปิร์ม (เนื้อมะพร้าว) ภายในผลมีลักษณะบางและอ่อนนุ่ม ภายในมีน้ำมะพร้าว ซึ่งในระยะนี้เรามักสอยเอามะพร้าวลงมารับประทานน้ำและเนื้อ เมื่อมะพร้าวแก่ ซึ่งสังเกตได้จากการที่เปลือกนอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ชั้นเอนโดสเปิร์มก็จะหนาและแข็งขึ้น จนในที่สุดมะพร้าวก็หล่นลงจากต้น
รายชื่อพันธุ์มะพร้าว
มะพร้าวไฟ
มะพร้าวน้ำหอม
มะพร้าวทะเล
มะพร้าวซอ
มะพร้าวพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย
ประโยชน์
-ในผลมะพร้าวอ่อนจะมีน้ำอยู่ภายใน เรียกว่าน้ำมะพร้าว ใช้เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ เนื่องจากอุดมไปด้วยโพแทสเซียม นอกจากนี้น้ำมะพร้าวยังมีคุณสมบัติปลอดเชื้อโรค และเป็นสารละลายไอโซโทนิก ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงสามารถนำน้ำมะพร้าวไปใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดเวน ในผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำหรือปริมาณเลือดลดผิดปกติได้
-น้ำมะพร้าวสามารถนำไปทำวุ้นมะพร้าวได้ โดยการเจือกรดอ่อนเล็กน้อยลงในน้ำมะพร้าว
-เนื้อในของมะพร้าวแก่ นำไปทำกะทิได้ โดยการขูดเนื้อในเป็นเศษเล็ก ๆ แล้วบีบเอาน้ำกะทิออก
-กากที่เหลือจากการคั้นกะทิ ยังสามารถนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้
-ยอดอ่อนของมะพร้าว หรือเรียกอีกชื่อว่า หัวใจมะพร้าว (coconut’s heart) สามารถนำไปใช้ทำอาหารได้ ซึ่งยอดอ่อนมีราคาแพงมาก เพราะการเก็บยอดอ่อนทำให้ต้นมะพร้าวตาย ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกยำยอดอ่อนมะพร้าวว่า 'สลัดเจ้าสัว' (millionaire's salad)
-ใยมะพร้าว นำไปใช้ยัดฟูก ทำเสื่อ หรือนำไปใช้ในการเกษตร
-น้ำมันมะพร้าว ได้จากการบีบหรือต้มกากมะพร้าวบด นำไปใช้ในการปรุงอาหารหรือนำไปทำเครื่องสำอางก็ได้ และในปัจจุบันยังมีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันมะพร้าวอีกด้วย
-กะลามะพร้าว นำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ กระดุม ซออู้ ฯลฯ
-ก้านใบ หรือทางมะพร้าว ใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว
-จั่นมะพร้าว (ช่อดอกมะพร้าว) ให้น้ำตาล
-จาวมะพร้าวใช้นำมาเป็นอาหารได้
-น้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าวใช้ถ่ายพยาธิได้
-เปลือกหุ้มรากมะพร้าวใช้รักษาโรคคอตีบได้
-น้ำมันจากกะลามะพร้าวใช้รักษาโรคผิวหนังได้

กล้วย


กล้วย เป็นพรรณไม้ล้มลุกในสกุล Musa มีหลายชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยน้ำไท กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว กล้วยไข่ กล้วยตานี กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง กล้วยนิ้วมือนาง กล้วยส้ม กล้วยนาค กล้วยหิน กล้วยงาช้าง ฯลฯ บางชนิดก็ออกหน่อแต่ว่าบางชนิดก็ไม่ออกหน่อ ใบแบนยาวใหญ่ ก้านใบตอนล่างเป็นกาบยาวหุ้มห่อซ้อนกันเป็นลำต้น ออกดอกที่ปลายลำต้นเป็น ปลี และมักยาวเป็นงวง มีลูกเป็นหวี ๆ รวมเรียกว่า เครือ พืชบางชนิดมีลำต้นคล้ายปาล์ม ออกใบเรียงกันเป็นแถวทำนองพัดคลี่ คล้ายใบกล้วย เช่น กล้วยพัด (Ravenala madagascariensis) ทว่าความจริงแล้วเป็นพืชในสกุลอื่น ที่มิใช่ทั้งปาล์มและกล้วย
การใช้ประโยชน์
กล้วยเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ใบตองใช้ห่ออาหารและทำงานฝีมือหลายชนิด ลำต้นใช้ทำเชือกกล้วย กระทง
อาหารที่ทำจากกล้วย
ส่วนต่างๆของกล้วยนำมาทำอาหารได้หลายส่วน ทั้งหัวปลี หยวกกล้วย ผลทั้งสุกและดิบ ตัวอย่างเช่น กล้วยแขก กล้วยบวชชี กล้วยปิ้ง กล้วยตาก กล้วยเชื่อม ข้าวเม่าทอด กล้วยทอด
ประโยชน์ทางสมุนไพร
ใบอ่อนของกล้วยอังไฟพอนิ่ม ใช้พอกแก้เคล็ดขัดยอก
ก้านใบตองตำให้แหลกช่วยลดอาการบวมของฝี
หัวปลี ใช้บำรุงน้ำนม ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
ผลกล้วยมีสารเซอโรโทนินซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ผลดิบมีสารกระตุ้นเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารให้หลั่งสารออกมาเคลือบกระเพาะ
ในผลกล้วยสุกอุดมด้วยคาร์โบไฮเดรตถึง 22 % รวมถึงมีเกลือแร่ เพกติน วิตามินเอ บี และซี มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

ตะไคร้

ตะไคร้ (Lemongrass) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citratus (DC.) Staph ชื่อท้องถิ่น จะไคร (ภาคเหนือ) ไคร (ภาคใต้) คาหอม (แม่ฮ่องสอน) เชิดเกรย ,เหลอะเกรย(เขมร-สุรินทร์), ห่อวอตะโป่(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นพืชล้มลุก ความสูงประมาณ 4-6 ฟุต ใบยาวเรียว ปลายใบมีขนหนาม ลำต้นรวมกันเป็นกอ มีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อยาวมีดอกเล็กฝอยเป็นจำนวนมาก ตะไคร้เป็นพืชที่สามารถนำส่วนต้นหัวไปประกอบอาหาร และจัดเป็นพืชสมุนไพรด้วย


โดยทั่วไปแบ่งตะไคร้ออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่
ตะไคร้กอ ตะไคร้ต้น ตะไคร้หางนาค ตะไคร้น้ำ ตะไคร้หางสิงห์ ตะไคร้หอม
ทั้งหมดเป็นพืชตระกูลหญ้า ตะไคร้เป็นพืชที่เจริญเติบโตง่าย อาจมีทรงพุ่มสูงถึง 1 เมตร มีลำต้นที่แท้จริงประมาณ 4-7 เซนติเมตร ลำของต้นจะถูกห่อหุ้มไปด้วยกาบใบโดยรอบ ใบยาวแคบเส้นใบขนานกับก้านใบ ใบของตะไคร้อุดมไปด้วยน้ำมันหอมระเหย ที่นิยมนำมาปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันโดยทั่วไป
ใช้ส่วนของเหง้าและลำต้นแก่ ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารที่สำคัญหลายชนิดเช่น ต้มยำ และอาหารไทยหลายชนิด ให้กลิ่นหอม มีสรรพคุณทางยา
บำรุงธาตุ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ทำให้เจริญอาหาร แก้โรคหืด แก้อหิวาตกโรค บำรุงสมอง ช่วยให้สมาธิดี ต้มกับน้ำใช้ดื่มแก้อาเจียน ใช้ต้นสดโขลกคั้นเอาน้ำดื่มแก้อาการเมาในกรณีผู้ที่เมามากๆ ช่วยให้สร่างเร็ว ส่วนหัวสามารถใช้แก้โรคเกลื้อน ท้องอืดท้องเฟ้อ โรคนิ่ว มากไปกว่านั้นยังสามารถทำเป็นยาช่วยนอนหลับ ช่วยลดความดันสูง น้ำมันตะไคร้หอมใช้ทากันยุงได้ ถ้าปลูกใกล้ผักอื่นๆจะช่วยกันแมลงได้และยังให้กลิ่นหอม ที่ดับกลิ่นบางชนิดใช้ตะไคร้เป็นส่วนผสมเพราะมีกลิ่นที่หอม และที่กำจัดยุงบางชนิดก็ใช้ตะไคร้เป็นส่วนผสมด้วยเนื่องจากมีกลิ่นที่แรงจึงช่วยทำให้ไล่ยุงได้ นอกจากนี้ตะไคร้ยังแก้กลิ่นคาวหรือดับกลิ่นคาวของปลา และเนื้อสัตว์ได้ดีมากๆ

ข้าวโพด


ข้าวโพด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Zea mays Linn.) ชื่ออื่นๆ ข้าวสาลี สาลี (เหนือ) คง (กระบี่) โพด (ใต้) บือเคเส่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นพืชตระกูลเดียวกับหญ้ามีลำต้นสูง โดยเฉลี่ย 2.2 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 0.5-2.0 นิ้ว เมล็ดจากฝักใช้เป็นอาหารคนและสัตว์
ลักษณะทางพฤษศาสตร์

ข้าวโพดเป็นพืชจำพวกหญ้า มีลำต้นตั้งตรงแข็งแรง เนื้อภายในฟ่ามคล้ายฟองน้ำสูงประมาณ 1.4 เมตร ใบ จะเป็นเส้นตรงปลายแหลม ยาวประมาณ 30-100 ซม. เส้นกลางของใบจะเห็นได้ชัด ตรงขอบใบมีขนอ่อนๆ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้อยู่ส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกตัวเมียอยู่ต่ำลงมาอยู่ระหว่างกาบของใบ และลำต้นฝักเกิดจากดอกตัวเมียที่เจริญเติบโตแล้ว ฝักอ่อนจะมีสีเขียว พอแก่เป็นสีนวล
ถิ่นกำเนิด
ได้มีการขุดพบซังข้าวโพดและซากของต้นข้าวโพดที่ใกล้แม่น้ำในนิวเม็กซิโก (แถบอเมริกาใต้) และปัจจุบันนิยมปลูกแพร่หลายในแถบอเมริกา แคนาดา สามารถปลูกได้ในสภาพที่ภูมิอากาศแตกต่างกันมาก ๆ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ เพราะสามารถนำมาเลี้ยงสัตว์ได้ทั้งต้น ใบ และเมล็ด
สำหรับประเทศไทย คนไทยรู้จักนำข้าวโพดมาเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้นำข้าวโพดพันธุ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์มาปลูกและทดลองใช้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นยังเป็นที่รู้จักกันน้อย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การใช้ข้าวโพดเริ่มแพร่หลายขึ้นเนื่องจาก หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้นำการเลี้ยงไก่แบบการค้ามาเริ่มสาธิต และกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามผู้เลี้ยงไก่จึงรู้จักใช้ข้าวโพดมากขึ้นกว่าเดิม แต่เนื่องจากระยะนั้นข้างโพดมีราคาสูงและหายาก การใช้ข้าวโพดจึงใช้เป็นเพียงส่วนประกอบของอาหารหลัก ซึ่งมีรำและปลายข้าวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันผู้เลี้ยงสัตว์รู้จักข้าวโพดกันทั่วไป และในปัจจุบันประเทศไทยได้ปลูกข้าวโพดในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก
ชนิดของข้าวโพด
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวโพดไร่ (Field Corn) ที่รู้จักในปัจจุบันเช่นข้าวโพดหัวบุ๋ม (Dent Coorn) และข้าวโพดหัวแข็ง (Fint Corn) ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะเมล็ดข้าวโพดหัวบุ๋มหรือหัวบุบ ข้าวโพดชนิดนี้เมื่อเมล็ดแห้งแล้วตรงส่วนหัวบนสุดจะมีรอยบุ๋มลงไป ซึ่งเป็นส่วนของแป้งสีขาว ข้าวโพดชนิดนี้สำคัญมากและนิยมปลูกกันมากใน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะทางแถบคอร์นเบลท์ สีของเมล็ดมีตั้งแต่ขาวไปจนถึงเหลือง เนื่องจากมีหลายสายพันธุมีโปรตีนน้อยกว่าพวกข้าวโพดหัวแข็ง ข้าวโพดหัวแข็ง ข้าวโพดพันธุ์นี้ส่วนขนสุดของเมล็ดมักมีสีเหลืองจัดและเมื่อแห้งจะแข็งมาก ภายในเมล็ดมีสารที่ทำให้ข้าวโพดมีสีเหลืองจัดเป็นสารให้สีที่ชื่อ คริปโตแซนทีน (Cruptoxanthin) สารนี้เมื่อสัตว์ได้รับร่างกายสัตว์จะเปลี่ยนสารนี้ให้เป็นไวตามินเอ นอกจากนี้สารนี้ยังช่วยให้ไข่แดงมีสีแดงเข้ม ช่วยให้ไก่มีผิวหนัง ปาก เนื้อ และแข้งมีสีเหลืองเข้มขึ้น เป็นที่นิยมของตลาดโดยเฉพาะแถบอเมริกาส่วนอังกฤษนั้นนิยมใช้ข้าวโพดขาว
ข้าวโพดหวาน (Sweet Corn) เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน ไม่มีการแปรรูป เมล็ดมักจะใสและเหี่ยวเมื่อแก่เต็มที่ เพราะมีน้ำตาลมาก ก่อนที่จะสุกจะมีรสหวานมากกว่าชนิดอื่น ๆ จึงเรียกข้าวโพดหวาน มีหลายสายพันธุ์
ข้าวโพดคั่ว (Pop Corn) เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน ไม่มีการแปรรูป เมล็ดค่อนข้างแข็ง สีดีและขนาดแตกต่างกัน สำหรับต่างประเทศ ถ้าเมล็ดมีลักษณะแหลมเรียกว่า ข้าวโพดข้าว (Rice Corn) ถ้าเมล็ดกลม เรียกว่า ข้าวโพดไข่มุก (Pearl Corn)
ข้าวโพดแป้ง (Flour Corn) เมล็ดมีสีหลายชนิด เช่น ขาว (ขุ่น ๆ หรือปนเหลืองนิด ๆ) หรือสีน้ำเงินคล้ำ หรือมีทั้งสีขาวและสีน้ำเงินคล้ำในฝักเดียวกัน เนื่องจากกลายพันธุ์ พวกที่มีเมล็ดสีคล้ำและพวกกลายพันธุ์เรียกว่าข้าวโพดอินเดียนแดง (Squaw Corn) หรือเรียกได้อีกชื่อว่าข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง (Native Corn) พวกข้าวโพดสีคล้ำนี้จะมีไนอาซีน สูงกว่าข้าวโพดที่มีแป้งสีขาว
ข้าวโพดเทียน (Waxy Corn) เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน จะมีแป้งที่มีลักษณะเฉพาะคือ นุ่มเหนียว เพราะในเนื้อแป้งจะประกอบด้วยแป้งพวกแอมมิโลเปคติน (Amylopectin) ส่วนข้าวโพดอื่น ๆ มีแป้งแอมมิโลส (Amylose) ประกอบอยู่ด้วย จึงทำให้แป้งค่อนข้างแข็ง
ข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ ที่นิยมปลูกในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์กัวเตมาลา พียี 12 (Rep.1) กัวเตมาลา พีบี 12 (Rep.2) พีบี 5 ข้าวโพดเหนียว และโอเปค-2 มีเมล็ดตั้งแต่สีขาว สีเหลืองไปจนถึงสีแดง ขนาดของเมล็ดขึ้นอยู่กับพันธุ์ โดยทั่วไปจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ในช่วง 0.5-0.8 ซม. ก่อนนำมาเลี้ยงสัตว์จึงต้องบดก่อนเพื่อช่วยให้การย่อยและการผสมได้ผลดีขึ้น ที่บดแล้วจะมีขนาดประมาณ 1-8 มม.

อ้อย


อ้อย หรือ อ้อยแดง (อังกฤษ:Sugar-cane, ชื่อวิทยาศาสตร์ Saccharum officinarum Linn. GRAMINEAE ) ชื่ออื่นคือ อ้อยขม หรืออ้อยดำ เป็นไม้ล้มลุก สูง 2-5 เมตร ลำต้นสีม่วงแดง มีไขสีขาวปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้าน ใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 0.5-1 เมตร ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด สีขาว ผลเป็นผลแห้ง ขนาดเล็ก

สายพันธุ์
อ้อยมีหลายพันธุ์แตกต่างกันที่ความสูง ความยาวของข้อและสีของลำต้น อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก อ้อยที่นำมาคั้นน้ำสำหรับดื่ม เป็นอ้อยที่ปลูกบริเวณที่ราบลุ่ม พื้นที่ดินเหนียว ประชาชนเรียกว่า อ้อยเหลือง หรือ อ้อยสิงคโปร์ นิยมปลูกกันมากในบริเวณจังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนครปฐม เป็นต้น
พ.ศ. 2550 ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี) กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยขึ้นมาใหม่ คือ พันธุ์สุพรรณบุรี 80 ซึ่งได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์แม่ 85-2-352กับพันธุ์พ่อ K84-200 ใช้ระยะเวลาคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์นานกว่า 11 ปี มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตในอ้อยปลูกน้ำหนักเฉลี่ย 17.79 ตัน/ไร่ ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.66 ตันซีซีเอส/ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำได้ระดับปานกลางด้วย
สรรพคุณสมุนไพร
ตำรายาไทยใช้ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ลำต้นสด 70-90 กรัม หรือแห้ง 30-40 กรัม หั่นเป็นชิ้น ต้มน้ำ แบ่งดื่มวันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร แก้ไตพิการ หนองในและขับนิ่ว แพทย์พื้นบ้านใช้ขับเสมหะ รายงานว่าอ้อยแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะในสัตว์ทดลอง

ข้าว

ข้าว เป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้าที่สามารถกินเมล็ดได้ ถือเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเช่นเดียวกับหญ้า ต้นข้าวมีลักษณะภายนอกบางอย่าง เช่น ใบ กาบใบ ลำต้น และรากคล้ายต้นหญ้า ในประเทศไทย ข้าวหอมมะลิมีสายพันธุ์ในประเทศและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก
พันธุ์ข้าวที่นิยมบริโภคมีอยู่ 2 สปีชีส์ใหญ่ๆ คือ

-Oryza glaberrima ปลูกเฉพาะในเขตร้อนของแอฟริกาเท่านั้น
-Oryza sativa ปลูกทั่วไปทุกประเทศ ข้าวชนิด Oryza sativa ยัง แยกออกได้เป็น
indica มีปลูกมากในเขตร้อน
japonica มีปลูกมากในเขตอบอุ่น
Javanica
ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพวก Indica ซึ่งแบ่งออกเป็นข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้ ข้าวยังได้ถูกมนุษย์คัดสรรและปรับปรุงพันธุ์มาโดยตลอดตั้งแต่มีประวัติศาสตร์การเพาะปลูก ข้าวในปัจจุบัน จึงมีหลายหลายพันธุ์ทั่วโลกที่ให้รสชาติและประโยชน์ใช้สอยต่างกันไป พันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงระดับโลกของไทย คือ ข้าวหอมมะลิ

ลักษณะที่สำคัญของข้าวแบ่งออกได้เป็นลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ ดังนี้

-ราก รากเป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน ใช้ยึดลำต้นกับดินเพื่อไม่ให้ต้นล้ม แต่บางครั้งก็มีรากพิเศษเกิดขึ้นที่ข้อซึ่งอยู่เหนือพื้นดินด้วย ต้นข้าวไม่มีรากแก้ว แต่มีรากฝอยแตกแขนงกระจายแตกแขนงอยู่ใต้ผิวดิน
-ลำต้น มีลักษณะเป็นโพรงตรงกลางและแบ่งออกเป็นปล้องๆ โดยมีข้อกั้นระหว่างปล้อง ความยาวของปล้องนั้นแตกต่างกัน จำนวนปล้องจะเท่ากับจำนวนใบของต้นข้าว ปกติมีประมาณ 20-25 ปล้อง
-ใบ ต้นข้าวมีใบไว้สำหรับสังเคราะห์แสง เพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุ อาหาร น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นแป้ง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและ สร้างเมล็ดของต้นข้าว ใบประกอบด้วย กาบใบและแผ่นใบ

พืชใบเลี้ยงเดี่ยว

พืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Monocotyledon หรือ Liliopsida) เป็นชั้นหนึ่งในส่วนพืชดอกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกลุ่มหนึ่ง ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของพื้นโลก และเป็นพื้ชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงอีกด้วย

พืชใบเลี้ยงเดี่ยววงศ์ใหญ่ที่สุด คือ กล้วยไม้ (Orchidaceae) โดยมีดอกที่ซับซ้อน และสวยงาม เพื่อดึงดูดแมลงชนิดต่างให้ช่วยในการผสมพันธุ์

ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีปริมาณมากเป็นอันดับสอง และอาจจะเป็นวงศ์ที่โดดเด่นกว่า ก็คือ หญ้า (Poaceae หรือ Gramineae) โดยมีวิวัฒนาการอีกทางหนึ่ง มีลักษณะพิเศษตือ การแพร่ขยายพันธุ์โดยอาศัยลม พืชในวงศ์หญ้านั้นมีดอกขนาดเล็ก แต่เมื่อรวมเป็นกลุ่มอาจปรากฏเป็นช่อดอกที่มองเห็นชัดเจนและสวยงาม